มะเร็งกล่องเสียงรู้ทัน-โรค

มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal Cancer) รักษาหายได้ ถ้ามาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ (ตอนที่ 1)

Views

มะเร็งกล่องเสียง คืออะไร
          
มะเร็งกล่องเสียง หมายถึง เนื้องอกร้ายที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อบุผิวของกล่องเสียง เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่งของคนทั่วโลก (พบได้ประมาณร้อยละ 2 ของมะเร็งทั้งหมด) ถึงแม้ยังไม่ติดหนึ่งในสิบของมะเร็งที่พบบ่อยก็ตาม แต่ถ้านับเฉพาะมะเร็งของ หู คอ จมูก  มะเร็งกล่องเสียงจะอยู่ในอันดับที่ 3  รองลงมาจากมะเร็งหลังโพรงจมูก และโรคมะเร็งโพรงจมูก ชนิดของมะเร็งกล่องเสียงที่พบได้บ่อยที่สุดคือ squamous cell carcinoma

กายวิภาคของกล่องเสียง
          
กล่องเสียงเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ ขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร  กล่องเสียงประกอบด้วยกล้ามเนื้อสองแถบที่ทำหน้าที่เป็นสายเสียง และมีกระดูกอ่อนอยู่ทางด้านหน้า โดยอาจแบ่งออกเป็นสามส่วน คือส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่าง มีหน้าที่ในการออกเสียง ช่วยการหายใจ และช่วยการกลืนอาหาร การเปิด-ปิด ของกล่องเสียง จะสัมพันธ์ กับการหายใจ การพูด และการกลืนอาหาร
          
– การหายใจ เมื่อกลั้นหายใจ สายเสียงจะปิดแน่น แต่เมื่อมีการหายใจ สายเสียงจะผ่อนคลายและเปิดออก
          
– การพูด เวลาพูด จะมีการเคลื่อนไหว ของสายเสียงเข้าหากัน ลมจากปอดจะผ่านสายเสียง และทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของสายเสียง  แรงสั่นสะเทือนนี้เองที่ทำให้เกิดเสียงขึ้น 
          
– การกลืน กล่องเสียงจะป้องกันไม่ให้อาหารและน้ำ สำลักลงไปในหลอดลม และปอด

กล่องเสียง แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ
          1. กล่องเสียง ส่วนที่อยู่เหนือสายเสียง
 (supraglottis) ส่วนนี้มีทางเดินน้ำเหลืองมากมาย เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้  จึงกระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองได้สูง
            2. กล่องเสียง ส่วนสายเสียง (glottis) ส่วนนี้ไม่ค่อยมีทางเดินน้ำเหลือง เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้  จึงมักไม่ค่อยกระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง
            3. กล่องเสียง ส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง (subglottis) ซึ่งเป็นส่วนที่ติดต่อกับท่อลม และมีทางเดินน้ำเหลืองติดต่อกับส่วนช่องอก ดังนั้น เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้  จึงกระจายเข้าท่อลม และต่อมน้ำเหลืองในช่องอกได้สูง

อุบัติการณ์ของมะเร็งกล่องเสียง
          
มะเร็งกล่องเสียง พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 10 เท่า และพบบ่อยในผู้สูงอายุที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน โดยเฉลี่ยอายุของผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ  50-70 ปี  ในสหรัฐอเมริกาพบมะเร็งกล่องเสียง ได้ ประมาณ 5 รายต่อประชากร 100,000 คน (รวมทั้งผู้หญิงและผู้ชาย) ต่อปี ส่วนในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2544-2546 พบโรคนี้ในผู้หญิง 0.3 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน และในผู้ชาย 2.5 รายต่อประชากรชาย 100,000 คน มะเร็งกล่องเสียง  สามารถเกิดได้กับกล่องเสียงในทุกตำแหน่ง โดยในคนไทย พบมะเร็งที่กล่องเสียง ส่วนที่อยู่เหนือสายเสียงมากที่สุด รองลงไป คือ กล่องเสียงส่วนสายเสียง และ กล่องเสียงส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง ตามลำดับ   จากสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทยมีการรายงานผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง ลดลง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536-2549

สาเหตุของมะเร็งกล่องเสียง
          
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของมะเร็งกล่องเสียง แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งกล่องเสียงได้แก่
          1. การสูบบุหรี่
  การเผาไหม้ของบุหรี่สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง นอกจากนั้น ควันของบุหรี่จะทำให้ขนกวัดของเยื่อบุกล่องเสียง หยุดการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวช้าลง มีสารคัดหลั่ง หรือสารระคายเคืองค้างอยู่ ทำให้เยื่อบุของกล่องเสียงหนาตัวขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์ ( squamous metaplasia ) กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้  พบว่าปัจจัยนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด
          2. ดื่มสุรา
 แอลกอฮอล์สามารถไปกระตุ้นเยื่อบุของกล่องเสียง เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์ กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
          3. การอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุกล่องเสียง
 เช่น จากคอ หรือ หลอดลมที่อักเสบเรื้อรัง
          4. มลพิษทางอากาศ
  การสูดดมอากาศที่เป็นพิษ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่น ควัน สารเคมี จากโรงงานอุตสาหกรรม
          5. การติดเชื้อไวรัส
  เชื้อไวรัสสามารถทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและแบ่งเซลล์ผิดปกติได้  ไวรัสยังสามารถถ่ายทอดยีนทางพันธุกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งในคนรุ่นต่อไปได้ ซึ่งการติดเชื้อ human papilloma virus (HPV)-16 และ 18 มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเกิดมะเร็งกล่องเสียง
          6. การฉายรังสี
 การรักษาโดยการฉายรังสีก้อนเนื้อบริเวณคอ สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
          7. ฮอร์โมนเพศ
  ผลการทดลองที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงจะมีเซลล์ตัวรับสัญญาณเอสโตรเจนรีเซบเตอร์ (Estrogen receptor, ER) เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อาการของมะเร็งกล่องเสียง
          
• เสียงแหบเรื้อรัง ซึ่งหากมะเร็งเกิดที่กล่องเสียง ส่วนสายเสียง จะแสดงอาการนี้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก แต่หากเป็นที่กล่องเสียงส่วนอื่น  อาการเสียงแหบที่เกิดขึ้น มักจะแสดงว่ามะเร็งอยู่ในระยะที่ลุกลามแล้ว
          
• กลืนอาหารลำบาก  กลืนติด กลืนแล้วเจ็บ หรือสำลัก
          
• มีเสมหะปนเลือด
          
• หายใจไม่ออก  หายใจติดขัด  หายใจลำบาก
 
           • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
          
• มีก้อนโตที่คอ (ก้อนมะเร็งที่ลุกลามออกมา หรือต่อมน้ำเหลือง ที่มะเร็งแพร่กระจายมา) อาจมีเพียงก้อนเดียว หรือ หลายๆก้อนได้พร้อมกัน
          
• เจ็บคอเรื้อรัง  มีความรู้สึกเหมือนก้างติดคอ
          
• ปวดหู หรือไอเรื้อรัง

การดำเนินโรคของมะเร็งกล่องเสียง
          
ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตมักเกิดจากการลุกลามแพร่กระจายของมะเร็ง จนอุดกล่องเสียงทำให้หายใจไม่สะดวก หรือลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ได้แก่ หลอดเลือดแดงใหญ่ของลำคอทำให้เกิดเลือดออกมากผิดปกติ หรือกดหลอดอาหาร ทำให้ไม่สามารถกลืนอาหารได้ เป็นต้น แต่หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก็สามารถช่วยให้หายขาด และพูดได้เป็นปกติ หรือแม้ในรายที่เป็นระยะลุกลาม และได้รับการผ่าตัดกล่องเสียง ก็มักจะมีชีวิตยืนยาว และสามารถฝึกพูดจนสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้
รูปแบบการแพร่กระจายและลุกลามของมะเร็งกล่องเสียง

          1. การแพร่กระจายโดยตรง
 โรคมะเร็งกล่องเสียงระยะสุดท้าย มักจะแพร่กระจายโดยแทรกซึมลงไปในชั้นเยื่อบุกล่องเสียงไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น ต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับกล่องเสียงทางด้านหน้า และหลอดอาหาร ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับกล่องเสียงทางด้านหลัง
          2. การลุกลามไปยังน้ำเหลือง
  ตำแหน่งที่มีการลุกลามบ่อยจะอยู่ที่บริเวณหลอดเลือดแดงส่วนบนของคอ ต่อมาจะแพร่กระจายขึ้นไปตามหลอดเลือดดำในลำคอและบริเวณเนื้อเยื่อน้ำเหลืองของคอ
          3. การแพร่กระจายทางหลอดเลือด
  มะเร็งสามารถแพร่กระจายไปตามการไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกาย เช่น ไป ปอด  ตับ  ไต  กระดูก  สมอง เป็นต้น

ความรุนแรงของมะเร็งกล่องเสียง
          
มะเร็งกล่องเสียง จัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงปานกลาง แต่รักษาหายได้ โดยโอกาสในการรักษาหาย นั้นขึ้นกับระยะโรค, ส่วนของกล่องเสียงที่เกิดโรค (เมื่อเกิดโรคที่กล่องเสียง ส่วนสายเสียง จะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า ความรุนแรงของโรคจะสูงขึ้น เมื่อเกิดโรคที่กล่องเสียง ส่วนที่อยู่เหนือสายเสียง และความรุนแรงของโรคจะสูงมาก เมื่อเกิดโรคที่กล่องเสียง ส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง), อายุ  และสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย

ขอบคุณที่มา 

รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
 ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล