ภูมิคุ้มกันสุขภาพทั่วไปแพทย์ทางเลือก

“ภูมิคุ้มกันบำบัด” ทางเลือกใหม่…รักษามะเร็ง

Views

มะเร็ง….เป็นปัญหาของผู้คนทั่วโลก และเป็นความท้าทายในวงการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมาก ในการคิดค้น ค้นหา วิธีการที่จะรักษามะเร็งให้หายขาดได้

ในช่วง 1-2 ปีมานี้ ในต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทย ได้มีความพยายามในการนำวิธีการที่เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันบำบัด” มาช่วยในการรักษามะเร็งในอวัยวะต่างๆหลายชนิด โดยเฉพาะการคิดค้นยารักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดที่เรียกว่า pembrolizumab

ผู้ป่วยรายหนึ่งที่ออกมายืนยันการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด คือ เดเร็ก คิทเชอร์ไซด์ ผู้ป่วยมะเร็งวัย 70 ปี ที่บอกว่า “ผมอาจจะตายไปแล้วถ้าไม่ได้รับการรักษาแบบ pembrolizumab”

 

คิทเชอร์ไซด์ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง เมื่อ 8 ปีก่อน หลังจากที่เขาเริ่มไอเป็นเลือด และเข้ารับการรักษามะเร็งในแบบทั่วๆไปประมาณ 3 ปี ซึ่งทุกอย่างไม่ดีขึ้น ซ้ำร้ายมะเร็งกลับลุกลามไปยังปอด ในตอนนั้นเขาเชื่อมั่นว่าคงไม่มีทางรอดแล้ว สำหรับผู้ป่วยมะเร็งอย่างเขา จนกระทั่งมีแพทย์ท่านหนึ่งเสนอทางเลือกในการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด แต่ก็บอกให้รู้โดยชัดแจ้งว่า มันยังคงเป็นแค่โครงการวิจัย

คิทเชอร์ไซด์ยินดีเข้ารับการรักษาโดยเป็นหนึ่งในคนไข้ของการทดลองครั้งนี้ ซึ่งระหว่างการทดลองยาตัวนี้ คิทเชอร์ไซด์ต้องเดินทางไปลอนดอนทุกๆ 3 สัปดาห์เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อเข้ารับการรักษาด้วย ภูมิคุ้มกันบำบัดในโครงการทดลอง และพบว่าเนื้องอกที่เขาเป็นอยู่หดตัวลงตลอด และเขารู้สึกดีขึ้นเรื่อยๆ จนลืมเรื่องความเจ็บป่วยไปเลยทีเดียว

การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด โดยปกติจะถูกใช้ภายหลังการรักษาด้วยเคมีบำบัดไม่ได้ผล แต่ก็นั่นละ การทดลองในประเทศอังกฤษ ในคนไข้ 882 คน จาก 37 ประเทศเข้าร่วม ระบุว่า จริงๆแล้วควรใช้วิธีรักษาในลักษณะนี้ก่อน โดยควรที่จะเป็นตัวเลือกลำดับแรกสำหรับคนไข้บางคน

ทั้งนี้ โดยทั่วไป การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นการให้ยาเข้าเส้นเลือดหลังจากคนไข้กลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง หรือเมื่อแพทย์มองว่าไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้แล้ว

งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet พบว่า มันปลอดภัยและ เจ็บป่วยน้อยกว่า รวมถึงยืดชีวิตคนไข้ได้นานกว่าด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การรักษาด้วยวิธีนี้อาจไม่ได้ผลสำหรับทุกคน

การวิจัยในเรื่องภูมิคุ้มกันบำบัดช่วงแรกๆ มีผลชัดเจนว่า สามารถช่วยให้เนื้อร้าย 1 ใน 4 ของผู้ป่วยมะเร็งที่ศีรษะและคอลุกลามไปมากแล้ว ลดขนาดลง หรือไม่ก็มีขนาดคงที่ อยู่โดยเฉลี่ย 23 เดือน ขณะที่การรักษาโดยเคมีบำบัด แม้ว่าผู้ป่วยจะตอบสนองการรักษามากกว่า แต่ 23% ของผู้ป่วยเหล่านี้ จะมีอาการดีเฉลี่ยเพียง 4 เดือนครึ่งเท่านั้น

ศ.เควิน แฮร์ริงตัน จาก The Royal Marsden NHS Foundation Trust หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่า ประมาณ 85% ของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะที่ลุกลามหรือทรุดตัวจะสามารถรับการรักษาแบบ pembrolizumab ได้ หรือคิดเป็นคนไข้ราว 1,300 คนต่อปี

สำหรับในประเทศไทย รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าสาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunothe rapy คือ การใช้ภูมิคุ้มกันของร่างกายมาเป็นหน่วยรบต่อสู้กับโรคมะเร็ง โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างภูมิคุ้มกันมะเร็งเรียกว่าเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ ส่วนเซลล์มะเร็งคือเซลล์ที่กลายพันธุ์และถือเป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย แต่เซลล์มะเร็งสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งในที่สุด การค้นพบกลไกที่เซลล์มะเร็งใช้หลบภูมิคุ้มกัน จึงทำให้สามารถหาวิธีนำภูมิคุ้มกันมาใช้เป็นแนวทางใหม่ในการรักษาโรคมะเร็งได้

“ภูมิคุ้มกันบำบัดไม่ได้ทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้ไปทำลายเซลล์มะเร็งอีกที ในขณะที่การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือยามุ่งเป้ามีผลทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรงเป็นหลัก ภูมิคุ้มกันบำบัดมีหลักๆ 3 ชนิด คือ แอนติบอดี เซลล์รักษา และวัคซีนรักษามะเร็ง” รศ.นพ.เอกภพบอก

ภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดหนึ่ง เรียกว่า ภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดแอนติบอดีที่ยับยั้งเช็กพอยต์หรือ Checkpoint Inhibitor เช็กพอยต์เป็นกลไกปกติของเซลล์ร่างกาย มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป เช็กพอยต์ที่อยู่บนผิวเซลล์มะเร็งและเซลล์เม็ดเลือดขาวจะคอยจับกัน ทำหน้าที่เปรียบเสมือนแม่กุญแจและลูกกุญแจที่จะล็อกไม่ให้เม็ดเลือดขาวเข้าทำลายเซลล์มะเร็งได้ ยายับยั้งเช็กพอยต์เป็นยากลุ่มแอนติบอดีจะทำหน้าที่คอยกันไม่ให้แม่กุญแจและลูกกุญแจจับกัน และเปิดโอกาสให้เม็ดเลือดขาวเข้ากำจัดเซลล์มะเร็ง ยายับยั้งเช็กพอยต์ที่มีใช้ในประเทศไทย ได้แก่ ยายับยั้งซีทีแอลเอโฟร์ (CTLA-4), ยายับยั้งพีดี วัน (PD-1) และยาที่ยับยั้งพีดีแอลวัน (PD-L1) ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้รักษามะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งเต้านมชนิดทริปเปิลเนกาทีฟ แต่ไม่สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิด เพราะข้อบ่งชี้ในการรักษาของมะเร็งแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับระยะของโรคและลักษณะของโรค

ก่อนหน้านี้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) เปิดเผยรายงานประจำปีฉบับล่าสุด ชี้ว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 18.1 ล้านคนทั่วโลก และจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งพุ่งสูงถึง 9.6 ล้านคน โดยผู้ชาย 1 ใน 5 คน และผู้หญิง 1 ใน 6 คน จะล้มป่วยเป็นโรคมะเร็งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ผลการศึกษาดังกล่าวมาจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลโรคมะเร็ง 36 ชนิด ใน 185 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่และผู้เสียชีวิตจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปี เกือบครึ่งของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งจำนวนมากที่สุดของโลก

สำหรับมะเร็งชนิดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมะเร็งทั้งสามชนิดนี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของกรณีที่มีการตรวจพบทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอด ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่สูงที่สุดของผู้หญิงใน 28 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ จีน ฮังการี เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์.


ไทยรัฐ ออนไลน์

30 พ.ย. 2562

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/health/1714773